Tools & Home Improvement

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เห็ดโคนน้อย

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเห็ดโคนน้อย
เห็ดโคนน้อย (Coprinus spp.) จัดเป็นราชั้นสูงที่อยู่ใน ตระกูลเห็ด (Basidiomycetes) เป็นเห็ดที่อยู่ในจีนัส Coprinus ใกล้เคียงกับเห็ดหมึก Coprinus comatus (Ink cap)และเห็ดในกลุ่มCoprinus อื่นๆอีกหลายชนิด แต่เป็นคนละชนิดกับเห็ดโคนธรรมชาติหรือเห็ดปลวก (Termitomyces spp.)ในต่างประเทศเห็ดในกลุ่มนี้ก็มีการเพาะเลี้ยงเช่นกัน มีชื่อสากลว่า Hypsizygus marmoreus (Peck) Bigelow เดิมในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปเนื่องจากมีการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกตามวัสดุเพาะ เช่น เห็ดถั่ว เห็ดถั่วเหลืองหรือ เห็ดถั่วเน่า เห็ดโคนน้อย เห็ดโคนบ้าน เห็ดโคนขาว(ภาคเหนือ) เห็ดคราม เห็ดปลวกน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)เห็ดโคนเพาะ เห็ดโคนน้อย เห็ดหมึก(ภาคกลาง) เป็นเห็ดที่ขึ้นง่าย มีการเพาะกันมากในต่างประเทศ ลักษณะคล้ายเห็ดโคน สีขาวสีหมวกสวยงามสมส่วน ก้านดอกขนาดเท่าดินสอดำ ความยาวของต้นเห็ดประมาณ 2-3 นิ้ว

เห็ดชนิดนี้นอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้วยังพบว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยในการย่อยอาหารและลดเสมหะ ถ้าตำให้ละเอียดใช้พอกภายนอกจะช่วยบรรเทาอาการปวดต่างๆได้ มีรายงานวิจัยที่แสดงว่าเห็ดนี้สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง sarcoma 180 และ เซลล์มะเร็ง Ehrlich carcinoma ได้สูง 90 และ100% ตามลำดับและยังพบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่ต้านเชื้อราได้อีกด้วย

สำหรับผู้บุกเบิกการเพาะเห็ดโคนน้อยและนำมาเผยแพร่ครั้งแรกให้แก่ประชาชนทั่วไป ตามเอกสารของอาจารย์อานนท์ เอื้อตระกูล เรื่องการเพาะเห็ดโคนน้อย(เห็ดถั่ว)ของศูนย์ไบโอเทคฯและชมรมเห็ดสากล ได้รายงานว่านายไพโรจน์ พิสุทธ์เป็นผู้บุกเบิกในการทดลองเพาะ ที่บ้านเลขที่ 83 หมู่18 ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้ร่วมกับศูนย์บริการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอหนองปรือ จัดอบรมหลักสูตรการเพาะเห็ดขึ้น และก็ได้มีผู้นำไปเพาะขยายตามที่ต่างๆแต่ยังคงเป็นที่รู้จักกันในวงแคบ เมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดเศรษฐกิจชนิดอื่นๆเช่นเห็ดฟางเป็นต้น เนื่องจากความนิยมบริโภคเห็ดโคนของประชาชนทั่วไปมีสูง เพราะเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย อุดมด้วยโปรตีนและคุณค่าทางอาหารสูง และมีราคาค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ เพราะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับปลวก และจะพบขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณกันยายน ถึงตุลาคม ดังนั้นจึงเริ่มมีผู้นำเห็ดถั่วนำมาเพาะเป็นการค้า เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีรสชาติใกล้เคียงแม้ว่าจะไม่เทียบเท่าเห็ดโคน โดยตั้งชื่อให้เป็นจุดสนใจว่าเห็ดโคนน้อยหรือเห็ดโคนเพาะ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ของเชื้อเห็ดถั่วที่มีลักษณะดีนำมาเพาะเลี้ยงจนกระทั่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศไทยเช่นเชียงใหม่ ลำปาง กำแพงเพชร ลพบุรีและกาญจนบุรีเป็นต้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีเทคนิคในการเพาะแตกต่างกันออกไป แต่โดยพื้นฐานวิธีการเพาะก็คล้ายๆกับเห็ดฟางนั่นเอง



เห็ดโคนน้อยที่เพาะกันทั่วไปที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่แน่นอนแล้วจะไม่มีสารพิษ Coprine ซึ่งสารชนิดนี้สามารถพบในเห็ดจีนัส Coprinus หลายสปีชีส์ที่ใกล้เคียงกับเห็ดโคนน้อย เช่น C.atramentarius , C.disseminatus, C.fuscescens, C.insignis, C.micaceus, C.quadrifidus, C.variegatus, C.silvaticus เป็นต้น โดยสารนี้พบว่าจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Coprinus syndrome (Bresinsky and Besel,1990) ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากสารพิษ coprine ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ สารพิษนี้มีฤทธิ์เสริมกับเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์ ทำให้ออกฤทธิ์คล้ายกับการรับประทานยา antabuse ดังนั้นเมื่อผู้บริโภครับประทานเห็ดในกลุ่มใกล้เคียงเหล่านี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์ไม่ว่าก่อนหรือหลัง จะมีอาการเมาค้าง หายใจหอบ หน้าแดงเนื่องจากหลอดเลือดขยาย ใจสั่น ชีพจร เต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ปวดศรีษะ มึนงง สับสนหรือประสาทหลอนและความดันโลหิตต่ำ อาการจะปรากฏอยู่ไม่นานและดีขึ้นภายใน 5 วัน การรักษาเนื่องจากพิษ โดยปกติจะหายได้เอง ยกเว้นถ้าอาการคงอยู่นาน ต้องทำให้อาเจียน ล้างกระเพาะลำไส้ ถ้าความดันต่ำมากต้องให้การรักษาทันที

ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเพาะเห็ดโคนน้อยโดยทั่วไปคือการสลายตัวง่ายของดอกเห็ด จึงมีระยะเวลาในการให้ผลผลิตค่อนข้างสั้น นอกจากจะทำการลวกให้สุกเสียก่อนก็พอที่จะสามารถเก็บได้นานขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดโคนน้อยมีการเจริญเติบโตเร็ว ส่วนของครีบจะสลายกลายเป็นของเหลวสีดำคล้ายหมึกเป็นผลมาจากการย่อยตัวเอง(autolysis) ของเหลวจากการสลายตัวนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นในต่างประเทศนำมาทำน้ำหมึกเพื่อทำต้นฉบับเอกสารพิเศษเพื่อป้องกันการปลอมแปลง จากการศึกษาพบว่าดอกเห็ดจากสายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ เมื่อโตเต็มที่จะสลายตัวภายใน 16 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเร็วกว่าที่ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสลายตัวใช้เวลา 18 ชั่วโมงและที่อุณหภูมิห้อง(27+/- 2 องศาเซลเซียส)ซึ่งใช้เวลา 20 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบว่าอิทธิพลของแสงก็มีผลต่อการเจริญเติบโตและการสลายตัวของดอกเห็ดเช่นกันกล่าวคือการเพาะเห็ดโคนน้อยในที่มืด เส้นใยจะเจริญได้ดีที่สุดแต่จะไม่สร้างดอกเห็ด หากมีการให้แสงตลอดเวลาพบว่าสามารถชะลอการสลายตัวของดอกเห็ดและแสงสีน้ำเงินมีประสิทธิภาพในการสร้างดอกเห็ดและชะลอการสลายตัวของดอกเห็ดได้ดีที่สุด ลักษณะของเห็ดในจีนัส Coprinus นี้มีการเจริญเติบโตที่เร็วมาก สามารถเจริญเต็มจานอาหารเพาะเชื้อภายใน 5-10 วัน โดยพบว่าเส้นใยเจริญดีที่สุดบนอาหาร oatmeal agarโดยใช้เวลาเพียง 7 วันก็เจริญเต็มจานเลี้ยงเชื้อ ให้โคโลนีที่ใหญ่ เส้นใยฟูแน่น รองลงมาคือ potato dextrose agar, yeast extract agar และ malt agar ตามลำดับ ผลจากการเปรียบเทียบวัสดุขยายเชื้อพบว่าเส้นใยเห็ดโคนน้อยสามารถเจริญบนเมล็ดข้าวฟ่างอย่างเดียวได้ดีกว่าการใช้เมล็ดข้าวฟ่างผสมข้าวเปลือก และการใช้เมล็ดข้าวเปลือกอย่างเดียว ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบผลผลิตเป็นน้ำหนักสดของดอกเห็ดที่เพาะบนวัสดุต่างๆพบว่าการเพาะเห็ดโคนน้อยโดยการใส่เชื้อ จะทำให้ได้ผลผลิตสูงกว่าการเพาะแบบไม่ใส่เชื้อ

เนื่องจากการผลิตเห็ดโคนน้อยยังพบปัญหาในเรื่องอายุหลังเก็บเกี่ยวค่อนข้างสั้น อันเนื่องมาจากการสลายตัวเร็วของดอกเห็ด แต่ปัจจุบันได้มีผู้แปรรูปเป็นเห็ดโคนน้อยบรรจุขวด โดยนำเห็ดที่เกลาแล้วมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปลวกน้ำร้อนให้สุกปล่อยให้สะเด็ดน้ำ 5 นาที นำไปบรรจุลงขวดที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วเติมน้ำเกลือเข้มข้น20%จนเต็มแล้วนำไปนึ่งต่ออีก 10-25 นาที ปิดฝาขวดแล้วนำไปใส่หม้อนึ่งความดันไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้ออีก 30 นาที เมื่อเย็นแล้วปิดผนึกฝาขวดก็สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี นอกจากนี้ก็ยังผู้นำมาแปรรูปในลักษณะอื่นๆอีกเช่นเห็ดอบแห้ง เห็ดทุบเป็นต้น









การเพาะเห็ดโคนน้อย แบบกองเตี้ย