Tools & Home Improvement

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เห็ดหอม

เห็ดหอม

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ lentinus edodes(berk)singer. ธรรมชาติของเห็ดหอม คล้ายๆกับเห็ดที่ขึ้นบนไม้อย่างอื่น เช่น เห็ดนางรม แต่เห็ดหอมมีความสามารถที่จะย่อยเซลลูโลส และลิกนิน ได้ดีกว่า จึงเจริญเติบโตได้ดีในไม้เนื้อแข็ง

ทั้งนี้เพราะเห็ดหอมมีช่วงระยะของการเจริญในเส้นใยนานมาก ในไม้เนื้ออ่อนระยะบ่มเส้นใยนี้เห็ดหอมจะย่อยและใช้อาหารในไม้จนทำให้ไม้ผุกร่อนก่อนที่จะมีดอกเห็ดเกิดขึ้น เห็ดหอมชอบขึ้นในที่ที่มีอากาศหนาว ความชื้นสูงอย่างประเทศไทยเช่น ตามป่าเขาในภาคเหนือ อาจจะมีโอกาสขึ้นได้ แต่กว่าจะเป็นเห็ดดอกไม่ใช่ทำการเพาะเพียงเดือน สองเดือนอย่างเห็ดชนิดอื่น เห็ดหอมมีระยะเวลาในการเจริญเติบโตทางเส้นใยนานกว่า การเพาะเริ่มกันตั้งแต่หมดฤดูหนาว เมื่ออากาศอุ่นขึ้นก็จะเริ่มลงมีเพาะกันและไม้ที่ใช้เพาะได้ดี ต้องเป็นไม้โอ็คเท่านั้น ขั้นตอนการเพาะเห็ดหอม จากการที่เห็ดหอมเจริญเติบโตบนกอไม้ และเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ไม้เป็นวัสดุเพาะจึงได้มีการทดลองเพาะเห็ดหอมในถุงแทน ซึ่งผลผลิตไม่แพ้จากการใช้ไม้เพาะโดยปฏิบัติดังนี้

1. การเตรียมสูตรอาหารขี้เลื่อย ให้ใช้สูตรเห็ดหูหนู เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดตีนแรด ฯลฯ ตลอดจนขั้นตอนการเตรียมก็คล้ายคลึงกัน หรือใช้สูตรดังนี้

สูตรที่ 1 ขี้เลื่อย 100 ก.ก. รำละเอียด 5 ก.ก. แป้งข้าวเจ้า 2 ก.ก. น้ำ 65 %

สูตรที่ 2 ขี้เลื่อย 100 ก.ก. รำละเอียด 5 ก.ก. น้ำตาลทราย 2-3 ก.ก. ดีเกลือ 0.2-0.3 ก.ก. น้ำ 65 %



2. นำส่วนผสมที่มีความชื้นเหมาะสมบรรจุลงในถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 7*13 นิ้ว นำไปนึ่งและใส่เชื้อลงไป

3. นำถุงขี้เลื่อยไปบ่มเชื้อที่อุณหภูมิ 25-28 องศาเซลเซียส นานประมาณ 3-5 เดือน

4. นำถุงขี้เลื่อยมาแกะพลาสติกออก และแช่เย็นอุณหภูมิประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง แล้วนำมาเรียงบนชั้นเพาะเห็ด ดอกเห็ดก็จะออกมารอบๆถุง ในระยะที่เปิดถุงควรเป็นระยะที่อุณหภูมิของอากาศค่อนข้างต่ำ หรือในปลายฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาว

5. หลังจากเก็บผลผลิตรุ่นแรกแล้ว ให้พักก้อนเชื้อระยะหนึ่ง และถ้าต้องการให้ดอกเห็ดออกดอกอีก ให้นำไปแช่น้ำตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว ผลผลิตในรุ่นหลังจะลดลง เพราะอาหารที่สะสมในก้อนเชื้อมีน้อย

ปัจจัยที่สำคัญและการดูแลรักษา

1. อุณหภูมิ เส้นใยของเห็ดหอมจะเจริญได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส เส้นจะชะงักการเจริญเติบโต และเส้นใยของเห็ดหอมจะตายที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส

2. ความชื้น มีความจำเป็นสำหรับระยะเวลาที่ให้ผลผลิต ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมกับการเจริญของเชื้อเห็ดหอมอยู่ระหว่าง50-85% ในระยะบ่มเส้นใยไม่ต้องการความชื้นในบรรยากาศเหมือนเห็ดทั่วไป ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำถูกสำลี ซึ่งอาจจะเป็นทางให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้

3. อากาศ การถ่ายเทอากาศที่ดีจำเป็นต่อการเกิดดอกเห็ด ถ้ามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก จะทำให้เห็ดมีก้านยาว บางครั้งหมวกดอกจะไม่เจริญหรือมีลักษณะผิดปกติอื่นๆ

4. แสง เป็นตัวกระตุ้นให้เส้นใยเกิดตุ่มเห็ดและเจริญเป็นดอกเห็ดได้รวดเร็วกว่าในที่มืด แต่ไม่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิต ซึ่งจะมีผลดีในกรณีของการชะลอการให้ผลผลิต นอกจากนี้แสงจะช่วยให้หมวกดอกมีสีเข้มไม่ซีดจาง

5. ระยะเวลาการบ่มเส้นใย เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการให้ผลผลิต ซึ่งการบ่มเส้นใยที่ได้ผลควรจะบ่มไว้ไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน

6. การแช่น้ำเย็น จะกระทำเมื่อต้องการให้เกิดดอก ภายหลังจากบ่มเส้นใยที่สมบูรณ์แล้ว โดยการแช่ก้อนเชื้อในน้ำเย็นประมาณ 2 ชั่วโมง หรือแช่น้ำค้างคืนก็ได้

การให้ผลผลิต


กรณีการเพาะเห็ดในถุงพลาสติก ผลผลิตดอกเห็ดสดมีตั้งแต่ 50-400 กรัมต่อน้ำหนักวัสดุเพาะ 800-1,000 กรัม ซึ่งขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่และเทคนิควิธีการของผู้เพาะเห็ด สำหรับการเพาะจากขอนไม้ ผลผลิตเห็ดสดเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 1.5-2 กิโลกรัมต่อท่อน ขนาดยาว 1 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว ส่วนไม้เนื้อแข็งนั้นเห็ดหอมก็สามารถขึ้นได้บ้างแต่ให้ผลผลิตต่ำมาก

การเก็บรักษาและแปรรูปเห็ดหอม เห็ดหอมเป็นเห็ดที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี หมวกดอกมีความทนทานไม่แตกเป็นขุย การรับประทานเห็ดหอมนั้นดอกเห็ดสดจะมีคุณภาพดีกว่าดอกเห็ดแห้ง การเก็บรักษาเห็ดหอมที่นิยมกันมากที่สุด มี 2 วิธี คือ

1. การตากแห้ง เป็นวิธีการรักษาเห็ดหอมที่นิยามากกว่าวิธีอื่น โดยการนำดอกเห็ดมาตากแดดจนแห้งสนิท แต่ดอกเห็ดจะแห้งเร็วเกินไป อาจมีการยุบตัวของดอกทำให้ไม่สวยงาม หรืออาจตากดอกเห็ดให้แห้งติดกับท่อนไม้หรือวัสดุที่ใช้เพาะ โดยการให้น้ำน้อยๆปล่อยให้ดอกเห็ดแห้งไปเอง จะได้ดอกเห็ดที่ไม่เสียรูปทรงและขายได้ราคาดีกว่า

2. การอบแห้ง เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำดอกเห็ดแห้งสนิท โดยการอบด้วยความร้อนแห้งซึ่งทำให้ดอกเห็ดที่ได้มีคุณภาพ รสชาด และรูปทรงของดอกเห็ดดีกว่า การตากแดด อุณหภูมิเริ่มต้นที่ใช้ในการอบแห้งควรสูงประมาณ 30 องศาเซลเซียส และค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิชั่วโมงละ 1-2 องศาจนถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้เวลาประมาณ 12-13 ชั่วโมง จากนั้นจึงเพิ่มเป็น 60 องศาเซลเซียส และรักษาอุณหภูมิให้คงที่นาน 1 ชั่วโมง ดอกเห็ดก็จะแห้งแลเก็บไว้ได้นาน การอบแห้งจะช่วยเพิ่มรสชาดของเห็ดหอม และทำให้ดอกเห็ดมีลักษณะเป็นเงางาม

โรคและศัตรูเห็ดหอม

1. เชื้อรา เป็นศัตรูที่สำคัญของเห็ดหอม ได้แก่ ราดำ ราเขียว ราเมือก ซึ่งจัดว่าเป็นศัตรูที่คอยทำลายเห็ดหอมในก้อนเชื้อและท่อนไม้ เชื้อราพวกนี้จะเจริญเติบโตในที่อับชื้นมากเกินไป อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ดังนั้นจึงควรระวังรักษาโรงเรือนให้สะอาด อย่าให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และศัตรูของเห็ดหอม

2. วัชเห็ด ซึ่งชอบเจริญบนท่อนไม้ระหว่างพักเชื้อ ซึ่งเป็นพวกที่ชอบความชื้นมาก และจะเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส ดังนั้นโรงเรือนที่ใช้ในการพักเชื้อไม่ควรให้มีความชื้นมากเกินไป และควรให้อากาศระบายถ่ายเทได้สะดวก ส่วนท่อนไม้ที่นำมาเพาะเชื้อต้องระวังอย่าให้เปลือกแตก เพราะอาจทำให้เชื้อวัชเห็ดจากภายนอกเข้าไปเจริญในท่อนไม้ได้

3. เชื้อที่มีลักษณะคล้ายไวรัส อาจแพร่ระบาดทำลายเส้นใยเห็ดหอมได้ ดังนั้นการเลี้ยงเชื้อเห็ดหอมบนอาหารวุ้น ควรตรวจเส้นใยเห็ดหอมตลอดเวลาว่ามีเชื้อไวรัสปลอมปนหรือไม่ ถ้ามีให้คัดทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ
เห็ดหูหนู : สุดยอดของเห็ด

เห็ดหูหนูเป็นเห็ดที่หาง่าย ราคาไม่แพง มีการบริโภคอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะอาหารจีนเท่านั้น ปัจจุบันเป็นอาหารทั่วไป เช่น ผัดเนื้อไก่ใส่ขิงใส่เห็ดหูหนู ยำเห็ดหูหนู แกงจืดเห็ดหูหนู เป็นต้น เรียกว่า เป็นอาหารที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย

เห็ดหูหนูมีอยู่ ๒ ชนิด

๑. เห็ดหูหนูขาว
๒. เห็ดหูหนูดำ

เห็ดหูหนูขาว

ได้ถูกยกย่องเป็น สุดยอดของเห็ด สมัยก่อนเป็นเห็ดที่พบได้น้อยตามธรรมชาติ ราคาแพง เป็นอาหารบำรุงสำหรับคนที่มีฐานะร่ำรวย แต่ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยง ทำให้ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง มีการระบาดของวัณโรค ผู้ป่วยมักมีอาการไข้หลังเที่ยงวัน ไอแห้งๆ มีเสมหะปนเลือด มีการใช้เห็ดหูหนูขาวบำรุงรักษา เสริมกับยา ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า เห็ดหูหนูขาว มีส่วนประกอบของโปรตีน ไขมัน น้ำตาล ไฟเบอร์ กรดอะมิโน วิตามิน และสารจำเป็นต่างๆ รวมทั้งน้ำมันยางอย่างอุดมสมบูรณ์

สรรพคุณที่สำคัญ คือ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ เสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้การไหลเวียนเลือดของหัวใจดีขึ้น (ลดอาการหลอดเลือดหัวใจขาด ตีบ) มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดอาการแทรกซ้อน ภายหลังการฉายแสงรักษาโรคมะเร็ง

สรรพคุณทางยาจีน เสริมบำรุงสารน้ำของปอด บำรุงไต ทำให้เกิดสารน้ำ หยุดไอ (ไอที่เกิดจากปอดแห้ง ไอแห้งๆ มีเลือดปน) บำรุงพลัง บำรุงหัวใจ บำรุงสมอง มีฤทธิ์สงบประสาท ช่วยให้นอนหลับ


การประยุกต์ใช้ทางคลินิก

เนื่องจากเห็ดหูหนูขาวมีคุณสมบัติทางยา ไม่ร้อน ไม่เย็น มีรสหวาน จึงมีคุณสมบัติบำรุง เสริมธาตุน้ำ และวิ่งเส้นลมปราณปอด (สีขาวเป็นสีของปอด) มักใช้บำรุงร่างกาย คนสูงอายุ ที่มีอาการป่วยไข้เรื้อรัง ทำให้พลังและยินพร่อง ใจสั่น นอนไม่หลับ ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค ไอแห้งๆ ไอมีเสมหะปนเลือด คนที่มีความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองแตก หรือหลอดเลือดหัวใจตีบในเวลาต่อมา

เห็ดหูหนูดำ

ได้ชื่อว่า "อาหารคาวของอาหารเจ" ในทางแพทย์จีน ถือว่าเป็นยาบำรุงเลือดและพลัง มีส่วนประกอบคล้ายกับเห็ดหูหนูขาว คุณสมบัติทางยา ไม่ร้อน ไม่เย็น รสหวาน วิ่งเส้นลม-ปราณไต (สีดำเป็นสีของไต) เป็นเห็ดที่ได้รับพลังยินสะสม ทำให้ลดความร้อน หรือเกิดความเย็นแก่กระเพาะอาหารได้

การประยุกต์ใช้ทางคลินิก

มักนำมาเป็นอาหารสำหรับคนที่มีความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดแดงแข็งตัว นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในไต วัณโรค ไอแห้งๆ อุจจาระเป็นเลือด ป้องกันมะเร็ง ลดอาการแทรกซ้อนภายหลังจากการฉายรังสี การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า เห็ดหูหนูดำมีน้ำมันยางธรรมชาติและสารใยไฟเบอร์ ช่วยในการระบายขับของเสียในลำไส้ มีฤทธิ์การต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และคุณสมบัติการลดไขมันในเลือด ซึ่งเป็นอาหารที่ เหมาะกับคนสูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคหัวใจ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เย็นกว่าเห็ดหูหนูขาว มีฤทธิ์ในการลดความร้อนของเลือด หยุดเลือด เช่น ประจำเดือนมากผิดปกติ ริดสีดวงทวาร อุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด (ซึ่งเกิดจากความร้อนของระบบเลือด) คนที่ภาวะร่างกาย เย็นเกินไป และมีอาการดังกล่าว ต้องพิจารณาเสริมบำรุงด้านอื่นประกอบ จึงไม่แนะนำให้กินเห็ดหูหนูในช่วงกลางคืน ขณะที่หยางร่างกายอ่อนลง และมีภาวะยินของธรรมชาติมาก


ข้อเปรียบเทียบเห็ดหูหนูขาว-เห็ดหูหนูดำ

ข้อเหมือนกัน
- คุณสมบัติ ไม่ร้อน-ไม่เย็น
- รสหวาน
- ส่วนประกอบ
- ต้านมะเร็ง ลดไขมันในเลือด ลดความดันเลือดสูง หลอดเลือดตีบ


ข้อต่างกัน

เห็ดหูหนูขาว

๑. วิ่งเส้นลมปราณปอด
๒. บำรุงพลังยินของปอด
๓. จุดเด่นที่วัณโรคปอด ไอแห้งๆ ไอมีเลือดปน (เนื่องจากปอดแห้ง ขาดสารยินหล่อเลี้ยง) เลือดกำเดาออก คอแห้ง เบื่ออาหารเนื่องจากกระเพาะ-อาหารแห้ง


เห็ดหูหนูดำ

๑. วิ่งเส้นลมปราณไต
๒. บำรุงพลังเลือดยินของไต (บำรุงสมอง)
๓. จุดเด่น เลือดออกเนื่องจากเลือดร้อน โดยเฉพาะอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ประจำเดือนมากผิดปกติ ริดสีดวงทวาร โรคบิด (เนื่องจากเลือดร้อน)


หมายเหตุ : คุณสมบัติคล้ายกัน แต่การออกฤทธิ์ของเห็ดหูหนูขาวจะออกฤทธิ์ที่ปอดและกระเพาะอาหาร ส่วนเห็ดหูหนูดำจะออกฤทธิ์ที่ไตและตับ

เห็ดหูหนูนับเป็นอาหารสำหรับสุขภาพที่ดี ราคาถูก หาซื้อง่าย เป็น "สุดยอดของเห็ด" เพราะสอดคล้องกับ โรคยอดฮิตในปัจจุบัน คือ โรคหัวใจ โรค มะเร็ง โรคความดันเลือดสูง โรคไขมัน ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุ สำคัญของโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ข้อควรระวัง อาหารเหล่านี้มีลักษณะทำให้เกิดความชุ่มชื้น ความเย็น คนที่ระบบการ ย่อยอาหาร หรือมีภาวะของร่างกายค่อนไปทางเย็นมากๆ ต้องมีอาหารหรือสมุนไพรที่มีคุณสมบัติร้อนประกอบด้วย และระมัดระวังไม่ควรกินมากในช่วงกลางคืน ควรกินในช่วงกลางวัน น่าจะเหมาะสมกว่า หลักการแพทย์ของจีนเน้นถึงสภาพอาหารที่เหมาะสม ควรพิจารณาองค์ประกอบ เงื่อนไขบุคคล เงื่อนไขเวลา และภูมิประเทศ (สถานที่) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง

ตำรับอาหารอย่างง่าย

๑. เห็ดหูหนูขาวตุ๋นน้ำตาลกรวด : ใส่เห็ดหูหนูขาว ๑ ช่อ แช่น้ำจนพองตัว ล้างสะอาด เติมน้ำตาลกรวดพอประมาณ ตุ๋นรวมกันด้วยไฟอ่อนๆ ๑ ชั่วโมง

สรรพคุณ : วัณโรค ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดแข็งตัว บำรุงให้ผิวพรรณชุ่มชื้น สวยงาม

๒. โจ๊กเห็ดหูหนูดำ : เห็ดหูหนูดำ ๑๐ กรัม แช่น้ำจนพอง ล้างให้สะอาด พุทราแดง ๕ ผล ข้าวสาร ๑ ช้อนโต๊ะ ใส่ต้มพร้อมกันในหม้อ ต้มจนละเอียด ค่อยเติมน้ำตาลกรวดพอประมาณ

สรรพคุณ : แก้เลือดจาง อ่อนเพลีย ไอเป็นเลือด หอบหืด ช่วยขับนิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ

๓. ซุปเห็ดหูหนูขาว : ใช้เห็ดหูหนูขาว ๑ ช่อ แช่น้ำจนพอง ล้างให้สะอาด เนื้อหมู ๒๐๐ กรัม ขิงสด ๓ แผ่น ใส่ในหม้อต้มรวมกันจนสุกดี เติมเกลือปริมาณเล็กน้อยเพื่อปรับรสชาติ

สรรพคุณ : บำรุงเลือดพลังพร่อง เวียนศีรษะ หอบหืด อ่อนเพลีย เป็นอาหารบำรุงฟื้นฟูสุขภาพที่ดีตำรับหนึ่ง

    วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

    เห็ดนางฟ้า

    การเพาะเห็ดนางฟ้า

    เห็ดนางฟ้ามีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดนางรม เห็ดทั้งสองชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์ (family) เดียวกัน ชื่อ "เห็ดนางฟ้า" เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในเมืองไทย คนไทยบางคนเรียกว่าเห็ดแขก เนื่องจากมีผู้พบเห็นเห็ดนี้ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย พบขึ้นตามธรรมชาติบนตอไม้เนื้ออ่อนที่กำลังผุ ในแถบเมืองแจมมู (Jammu) บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pleurotus sajor-caju (Fr.) Singer

    เห็ดนางฟ้าถูกนำไปเลี้ยงในอาหารวุ้นเป็นครั้งแรกโดย Jandaik ในปี ค.ศ. 1947 ต่อมา Rangaswami และ Nadu แห่ง Agricultural University, Coimbattore ในอินเดียเป็นผู้นำเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดนางฟ้าเข้ามาฝากไว้ที่ American Type Culture Collection (ATCC) ในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1975 ได้ทราบว่าประมาณปี ค.ศ. 1977 ทางกองวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้นำเชื้อจาก ATCC เข้ามาประเทศไทยเพื่อทดลองเพาะดู ปรากฏว่าสามารถเจริญได้ดี

    อีกสายพันธุ์หนึ่ง เป็นเห็ดที่มีผู้นำเข้ามาจากประเทศภูฐาน มาเผยแพร่แก่นักเพาะเห็ดไทย ได้มีการเรียกชื่อเห็ดนี้ว่า เห็ดนางฟ้าภูฐาน มีหลายสายพันธุ์ซึ่งชอบอุณหภูมิที่แตกต่างกัน บางพันธุ์ออกได้ดีในฤดูร้อน บ้างพันธุ์ออกได้ดีในฤดูหนาว เป็นที่นิยมมาเพาะเป็นการค้ากันมาก

    ลักษณะของดอกเห็ดนางฟ้า มีลักษณะคล้ายกับดอกเห็ดเป๋าฮื้อ และดอกเห็ดนางรม เมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดเป๋าฮื้อ ดอกเห็ดนางฟ้าสีจะอ่อนกว่า และมีครีบอยู่ชิดกันมากกว่า เห็ดนางฟ้าสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นนานได้หลายวัน เช่นเดียวกับเห็ดเป๋าฮื้อ เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ไม่มีการย่อตัวเหมือนกับเห็ดนางรม ด้านบนของดอกจะมีสีนวลๆ ถึงสีน้ำตาลอ่อน ในอินเดียดอกเห็ดมีขนาดตั้งแต่ 5 - 14 เซนติเมตร และจะมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 30 - 120 กรัม เห็ดนางฟ้ามีรสอร่อย เวลานำไปปรุงอาหารจะมีกลิ่นชวนรับประทาน เห็ดชนิดนี้สามารถนำไปตากแห้ง เก็บไว้เป็นอาหารได้ เมื่อจะนำเห็ดมาปรุงอาหาร ก็นำไปแช่น้ำเห็ดจะคืนรูปเดิมได้
    วงจรชีวิตของเห็ดนางฟ้า


    วงจรชีวิตของเห็ดนางฟ้าก็เป็นแบบเห็ดทำลายไม้ทั่ว ๆ ไป คือมีชีวิตอยู่ข้ามฤดูอัตคัด ด้วยคลามีโดสปอร์ในท่อนไม้ พอถึงฤดูชุ่มชื้นก็งอกออกมาเป็นเส้นใย แล้วสร้างดอกเห็ดขึ้น ปล่อยสปอร์ลอยไป สปอร์งอกเป็นเส้นใยแล้วเจริญไปบนอาหารจนสร้างดอกเห็ดอีก วนเวียนไปอย่างนี้

    เห็ดนางฟ้าเติบโตดีที่ pH. 5 - 5.2 (คือเป็นกรดเล็กน้อย) อุณหภูมิที่เหมาะมากต่อเส้นใยคือ 32 องศาเซลเซียส และสร้างดอกเห็ดได้ดีที่ 25 องศาเซลเซียส เส้นใยสีขาวจัด มีความสามารถเชื่อมต่อเส้นใยได้ดี ใช้น้ำตาลในแง่ของอาหารคาร์โบไฮเดรตได้ดีกว่าพวก โพลีแซคคาไรค์ หรืออาหารซับซ้อน

    วงจรชีวิตเห็ดนางฟ้า
    1. ดอกเห็ดนางฟ้าเมื่อโตเต็มที่จะสร้างสปอร์บริเวณครีบ โดยการปล่อยสปอร์เมื่อแก่ออกเป็นระยะ ๆ


    2. เมื่อดอกเห็ดปล่อยสปอร์ออกมาแล้ว สปอร์ก็ปลิวไปตามกระแสลม

    3. เมื่อสปอร์ปลิวไปตกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะงอกออกมาเป็นเส้นใยขั้นต้นมี 1 นิวเคลียส

    4. เส้นใยขั้นที่ 1 เมื่อเจริญเต็มที่แล้ว ก็จะมารวมตัวกัน ซึ่งอาจมาจากต่างสปอร์กัน การรวมตัวของเส้นใยขั้นที่ 1 จะเป็นการเชื่อมกันแล้วถ่ายทอดนิวเคลียสมาอยู่ในเซลเดียวกัน กลายเป็นเส้นใยขั้นที่ 2 5. หลังจากเส้นใยขั้นที่ 1 รวมตัวกันเป็นเส้นใยขั้นที่ 2 แล้ว ก็จะเจริญเติบโตและสร้างเส้นใยเห็ดแทนเส้นใยขั้นที่ 1 อย่างรวดเร็วบนอาหาร

    6. เมื่อเส้นใยขั้นที่ 2 เจริญบนอาหารและโตเต็มที่แล้ว จะสะสมอาหารแล้วรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อสร้างดอกเห็ดต่อไป

    7. ดอกเห็ดนางฟ้าที่เกิดจากการรวมตัวของเส้นใยเห็ดขั้นที่ 2

    ขั้นตอนการเพาะเห็ดนางฟ้า


    การเพาะเห็ดนางฟ้ามีระบบการผลิตแยกชัดเจนได้เป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

    1) การผลิตเชื้อวุ้น

    2) การทำหัวเชื้อเห็ด

    3) การผลิตเชื้อถุงหรือก้อนเชื้อ

    4) การเพาะให้เกิดเป็นดอกเห็ด

    การลงทุนจะมากในขั้นตอนที่ 1 - 3 ส่วนขั้นที่ 4 คือการผลิตดอกเห็ด จะทำขนาดเล็กใหญ่เท่าใดก็ได้ ไม่ต้องลงทุนมาก หรือจะดัดแปลงจากโรงเรือนอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว และที่วางอยู่มาใช้ได้ และในขั้นตอนนี้ ผู้ที่ต้องการเพาะจะทำครบทุกขั้นตอนเลยก็ได้ หรืออาจจะทำเป็นบางขั้นตอน เช่น จะทำเฉพาะหัวเชื้อเห็ด โดยการนำก้อนเชื้อที่ทำสำเร็จรูปแล้วมาเปิดออก รดน้ำให้เกิดดอกเห็ดเลยก็ได้ ซึ่งระบบการตั้งฟาร์มเห็ด ได้รับการแนะนำให้ทำเป็นขั้น ๆ ดังต่อไปนี้

    1. เริ่มเรียนรู้วิธีการกินเห็ด เราจะทำธุรกิจเห็ดต้องกินเห็ดเก่ง ต้องปรุงอาหารจากเห็ดหลายชนิด ทำให้อร่อยด้วย สามารถแนะนำผู้ซื้อเห็ดไปปรุงเองได้อย่างมั่นใจ เช่นนี้ทำให้เราพร้อมต่อการขายเห็ด

    2. ผลิตดอกเห็ดขาย 90% ของฟาร์มเห็ดที่ทำอยู่เริ่มจากวิธีนี้ โดยทำโรงเรือนขนาดย่อมๆ เพื่อใช้เพาะเอาดอกเห็ด ซื้อถุงเชื้อจากฟาร์มมาผลิตดอก โดยหาความชำนานและความรู้ไปเรื่อยๆ จนเชี่ยวชาญ ขั้นนี้อย่าเพิ่งลงทุนทำถุงเชื้อเอง ให้ซื้อถุงเชื้อจากฟาร์มที่ทำขายดีกว่า เริ่มจากน้อยๆ ทยอยทำได้เห็ดมาก็นำไปขายตลาด ขายเองหรือส่งแม่ค้าก็ได้ ขยายตลาดดอกเห็ดเพิ่มมากขึ้นไปเป็นลำดับ จนตลาดใหญ่ขึ้นและสม่ำเสมอดีแล้วจึงคิดผลิตถุงเชื้อ แต่ถ้าตลาดไปไม่ได้ก็หยุดแค่นั้นไม่ขาดทุนมาก

    3. ผลิตถุงเชื้อเห็ด ถ้าตลาดรับซื้อเห็ดและถุงเชื้อมากพอ จึงตั้งหน่วยผลิตถุงเชื้อได้ แต่ถ้าคำนวณว่าซื้อถุงถูกกว่าผลิตเองก็ไม่ควรทำ ควรไปดูฟาร์มทำถุงเชื้อหลาย ๆ ฟาร์ม แล้วมาคำนวณว่าเครื่องมือและวิธีการแบบใดดีที่สุด เตรียมการเอาคนคุมงานไปฝึกงานในฟาร์ม หรือติดต่อจ้างคนชำนาญในฟาร์มเก่ามาทำฟาร์มใหม่ ขั้นตอนนี้ก็ควรซื้อเชื้อข้าวฟ่าง ยังไม่ควรทำเอง การลงทุนขนาดเล็กจะใช้หม้อต้มไอน้ำต่างหาก (สตีมเม่อร์) แล้วต่อท่อมาอบถุงขี้เลื่อยในอีกหม้อต่างหาก ถ้างานนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นสมควร แล้วค่อยผลิตเชื้อข้างฟ่างและซื้อวุ้นต่อไป

    4. ผลิตเชื้อวุ้นและเชื้อข้าวฟ่าง เริ่มทำเมื่องานฟาร์มมีขนาดใหญ่มาก สำหรับระยะ 1 - 2 ปี ที่ผ่านมานั้น ถ้ายังไม่ทำเชื้อวุ้นและเชื้อข้าวฟ่างมาก่อน ก็ไม่ควรทำขึ้นใหม่ มีผู้ทำขายมากอยู่แล้ว ซื้อเขาใช้ดีกว่า นอกจากจะห่างไกลซื้อยากจริงๆ แล้วต้องใช้มากจึงค่อยทำ

    วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552

    การเพาะเห็ดลมและเห็ดขอนขาว

    การเพาะเห็ดลมและเห็ดขอนขาว

    เห็ดลม เป็นชื่อที่เรียกกันทางภาคเหนือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า เห็ดบด เห็ดขอนดำ หรือ เห็ดกระด้าง ในธรรมชาติมักพบขึ้นกับไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้เต็ง รัง เทียง ตะเคียน และไม้กระบาก เป็นต้น
    มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lentinus polychrous Lev.
    เห็ดขอนขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Lentinus squarrosulus Mont. ในธรรมชาติมัก พบขึ้นบนไม้แข็งเช่นเดียวกัน

    วัสดุอุปกรณ์

    1. อาหารเพาะ
    2. หัวเชื้อเห็ดลมและเห็ดขอนขาว
    3. ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 7"x13" 8"x13" หรือ 9"x13" ฯลฯ
    4. คอพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 นิ้ว
    5. สำลี ยางรัด
    6. ถังนึ่งไม้อัดความดัน
    7. โรงเรือนหรือสถานที่บ่มเส้นใย และเปิดดอก


    อาหารเพาะ

    สูตรที่ 1
    1.ขี้เลื่อยแห้ง (ไม้ยางพารา, ไม้มะขามฯลฯ) 100 กิโลกรัม
    2.รำละเอียด 3-5 กิโลกรัม
    3.ปูนขาว หรือ แคลเซียมคาร์บอเนต หรือยิปซั่ม 0.5-1 กิโลกรัม
    4.น้ำตาลทราย 2-3 กิโลกรัม
    5.ผสมน้ำ ปรับความชื้น 50-55 กิโลกรัม

    สูตรที่ 2

    ขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ 100 กิโลกรัม

    แอมโมเนียมซัลเฟต 1 กิโลกรัม
    ปูนขาว 1 กิโลกรัม
    ผสมส่วนผสมทั้ง 3 ชนิด หมักกับน้ำประมาณ 2-3 เดือน
    กลับกองประมาณ 3-4 ครั้ง นำไปผสมกับรำละเอียด 3 กิโลกรัม
    น้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม
    ปรับความชื้นประมาณ 50-55 เปอร์เซ็นต์

    วิธีเพาะ

    1. บรรจุอาหารเพาะลงในพลาสติกทนร้อน กดให้แน่น สูงประมาณ 2/3 ของถุง
    2. รวบปากถุง สวมคอพลาสติก พับปากถุงลงมา ดึงให้ตึง รัดยางให้แน่น อุดด้วยสำลี หุ้มทับด้วยกระดาษหรือฝาครอบพลาสติก
    3. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อ ที่อุณหภูมิ 90-100 องศาเซลเซียส สม่ำเสมอ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่งโมง จากนั้นทิ้งให้เย็น
    4. นำถุงพลาสติกที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว มาใส่เชื้อจากหัวเชื้อเห็ดที่เตรียมไว้ โดยทั่วไปจะเลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง เขย่าให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายออก และใส่ลงในถุงอาหารประมาณถุงละ 15-20 เมล็ด โดยปฏิบัติในที่สะอาดไม่มีลมโกรก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคและแมลง
    5. นำไปวางในโรงเรือนหรือสถานที่สำหรับบ่มเส้นใย อุณหภูมิประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส เพื่อให้เส้นใยเจริญ


    การเจริญของเส้นใยเห็ดลม
    เส้นใยเห็ดลมใช้เวลาในการเจริญเต็มอาหารเพาะน้ำหนัก 800-1,000 กรัม ประมาณ 30-35 วัน จากนั้นเส้นใยจะค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีส้ม
    จนถึงสีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ โดยเฉพาะเมื่อถูกอากาศและแสงระยะเวลาการเจริญทางเส้นใยจนเริ่มให้ดอกเห็ด ขึ้นกับสายพันธุ์ โดยเฉลี่ยใช้เวลา
    ประมาณ 80-90 วัน

    การเจริญของเส้นใยเห็ดขอนขาว
    คล้ายกับเห็ดลม แต่มีระยะเวลาการเจริญทางเส้นใยตั้งแต่เพาะเชื้อจนเริ่มให้ดอกเห็ด เฉลี่ย 20-30 วัน

    โรงเรือนเปิดดอก
    โรงเรือนเปิดดอกเห็ดลมและเห็ดขอนขาว ควรให้มีแสงผ่านเข้าภายในโรงเรือนได้ประมาณ 60-70% มีช่องเปิดปิดสำหรับถ่ายเทอากาศ อาจใช้ตาข่ายพรางแสงมุงหลังคาและฝา และในกรณีฤดูฝน มุงหลังคาทับด้วยคา หรือวัสดุกันน้ำ

    การเปิดถุงและการกระตุ้นให้เกิดดอก
    เปิดจุกสำลี หรือตัดปากถุง วางในโรงเรือน ให้ความชื้นโดยการให้น้ำในโรงเรือนและบริเวณก้อนเชื้อ ให้มีความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%
    ปรับโรงเรือนให้มีสภาพร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 33-36 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-3 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มงอก จากนั้นปรับอุณหภูมิในโรงเรือน
    ให้ลดลงมีอากาศถ่ายเทได้ดี ความชื้นสัมพันธ์ 60-70% มีแสงสว่างปานกลางเพื่อให้ดอกเห็ดเจริญเติบโตต่อไป ในระหว่างให้ผลผลิตแต่ละครั้งเส้นใยเห็ดลมจะพักตัวประมาณ 15-20 วัน ส่วนเห็ดขอนขาวจะทยอยให้ผลผลิต


    การเก็บดอกเห็ด
    ควรเก็บส่วนต่างๆของดอก ให้หลุดออกจนหมด เพื่อป้องกันการเน่าเสียจากเศษหรือส่วนของดอกเห็ดที่เหลือติดค้างอยู่ที่ก้อนเชื้อ ขนาดของดอกเห็ดที่เก็บขึ้นกับความต้องการของผู้เพาะ ดอกเห็ดอ่อนจะมีราคาสูงกว่าดอกเห็ดที่บานเต็มที่ และมีความเหนียวน้อยกว่าเห็ดบาน

    วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552

    เห็ดฟาง

    เห็ดฟาง

    คนไทยรู้จักบริโภคอาหารจากเห็ดฟางมานานแล้ว เพราะมีรสดีมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าพืชผักหลายชนิด และไม่มีการใช้สารฆ่าแมลง การเพาะก็ทำได้ง่าย วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้เพาะก็หาได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และการเพาะเห็ดฟางก็สามารถ ทำได้ตลอดทั้งปี จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการคิดค้นดัดแปลงวัสดุเพาะ วิธีเพาะ และอาหารเสริมเพื่อเพิ่มผลผลิตได้มากเมื่อเกี่ยวข้าวและนวดข้าวเสร็จแล้ว พื้นที่ปลูก 1 ไร่ ถ้าได้ข้าวเปลือก 100 ถัง จะมีฟางเหลือประมาณ 3,000 กก. การเพาะเห็ดฟาง โดยทั่วไปถ้าใช้ฟางแห้ง 10 กก. จะผลิตเห็ดฟางสดได้ 1 กก. ดังนั้น ฟาง 3,000 กก. จะได้เห็ดสด 300 กก. ซึ่งขายได้ กก.ละ 20-30 บาท จะได้เงินอีก 6,000-9,000 บาท

    ลักษณะของการเพาะเห็ดฟางในปัจจุบัน

    มีอยู่หลายวิธี คือ การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง, การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย, การเพาะเห็ดฟางจากเปลือกฝักถั่ว, การเพาะเห็ดฟางแบบ โรงเรือน หรืออุตสาหกรรม เป็นต้นการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูงนั้น ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมทำกันนักเพราะใช้เวลาการเพาะนาน อีกทั้งต้องเสียเวลา ในการดูแลรักษานานอีกด้วยส่วนวิธีการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยนั้น กำลังเป็นที่นิยมมากเพราะมีวิธีการทำที่ง่าย ทั้งวัสดุที่ใช้เพาะก็หาได้ง่าย และผลผลิตที่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ในที่นี้จะกล่าวรายละเอียดเฉพาะการเพาะแบบกองเตี้ยเท่านั้น
    สิ่งจำเป็นในการเพาะเห็ดฟาง

    วัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะ ใช้ฟางตากแห้งสนิทซึ่งเก็บไว้โดยไม่เปียกชื้นหรือขึ้นรามาก่อน ใช้ได้ทั้งฟางข้าวเหนียว ฟางข้าวจ้าว ฟางข้าว ที่นวดเอาเมล็ดออกแล้ว และส่วนของตอซังเกี่ยวหรือถอนก็ใช้ได้ดีถ้าเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการ เพาะต่าง ๆ แล้ว ตอซังจะ ดีกว่าปลายฟางข้าวนวดและวัสดุอื่น ๆ มาก เนื่องจากตอซังมีอาหารมากกว่าและอุ้มน้ำได้ดี กว่าปลายฟาง

    อาหารเสริม การใส่อาหารเสริมเป็นส่วนช่วยให้เส้นใยของเห็ดฟางเจริญได้ดี และทำให้ได้ดอกเห็ดมากกว่าที่ ไม่ได้ใส่ถึงประมาณ เท่าตัว อาหารเสริมที่นิยมใช้อยู่เป็นประจำได้แก่ ละอองข้าว ปุ๋ยมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอกแห้ง ไส้นุ่น ไส้ฝ้าย ผักตบชวาตากแห้งแล้วสับ ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ จอกแห้ง และเศษพืชชิ้นเล็ก ๆ ที่นิ่มและอุ้มน้ำได้ดี เหล่านี้ก็มีส่วนใช้เป็น อาหารเสริมได้เช่นกัน

    เชื้อเห็ดฟางที่จะใช้เพาะ การเลือกซื้อเชื้อเห็ดฟางเพื่อให้ได้เชื้อเห็ดที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมกับราคามี หลักเกณฑ์การพิจารณา ประกอบดังนี้ คือ

    - เมื่อจับดูที่ถุงเชื้อเห็ด ควรจะต้องมีลักษณะเป็นก้อนแน่นมีเส้นใยของเชื้อเห็ดเดินเต็มก้อนแล้ว
    - ไม่มีเชื้อราชนิดอื่น ๆ หรือเป็นพวกแมลง หนอน หรือตัวไร เหล่านี้เจือปน และไม่ควรจะมีน้ำอยู่ก้นถุง ซึ่งแสดงว่าชื้นเกินไป ความงอกจะไม่ดี
    - ไม่มีดอกเห็ดอยู่ในถุงเชื้อเห็ดนั้น เพราะนั่นหมายความว่าเชื้อเริ่มแก่เกินไปแล้ว
    - ควรผลิตจากปุ๋ยหมักของเปลือกเมล็ดบัวผสมกับขี้ม้า หรือไส้นุ่นกับขี้ม้า- เส้นใยไม่ฟูจัดหรือละเอียดเล็กเป็นฝอยจนผิดธรรมดาลักษณะของเส้นใยควรเป็นสีขาวนวล เจริญคลุมทั่วทั้งก้อนเชื้อเห็ดนั้น
    - ต้องมีกลิ่นหอมของเห็ดฟางด้วย จึงจะเป็นก้อนเชื้อเห็ดฟางที่ดี
    - เชื้อเห็ดฟางที่ซื้อต้องไม่ถูกแดด หรือรอการขายไว้นานจนเกินไป
    - เชื้อเห็ดฟางที่ซื้อมานั้น ควรจะทำการเพาะภายใน 7 วัน
    - อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาใด ๆ ของผู้ขาย ควรสอบถามจากผู้ที่เคยทดลองเพาะมาก่อนจะดีกว่า นอกจากนี้ควร มีการตรวจสอบ เชื้อเห็ดฟางจากหลายยี่ห้อ เชื้อเห็ดฟางยี่ห้อใดให้ผลผลิตสูงก็ควรเลือกใช้ยี่ห้อนั้นมาเพาะจะดีกว่า
    - ราคาของเชื้อเห็ดฟางไม่ควรจะแพงจนเกินไป ควรสืบราคาจากเชื้อเห็ดหลาย ๆ ยี่ห้อ เพื่อเปรียบเทียบดูด้วย

    สถานที่เพาะเห็ด เนื่องจากการเพาะเห็ดฟางเป็นการเพาะบนดิน ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมแปลงเพาะนั้นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต้องเป็นบริเวณที่ไม่มียาฆ่าแมลงหรือยากันเชื้อรา น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดีและต้องเป็นที่ไม่เคยใช้เพาะเห็ดฟาง มาก่อน ถ้าเคยเพาะเห็ดฟางมาก่อนก็ควรจะทำความสะอาดที่บริเวณนั้น โดยการขุดผลึกดินตากแดดจัด ๆ ไว้สัก 1 อาทิตย์เพื่อฆ่า เชื้อโรค ต่าง ๆ บนดินที่จะเป็นพาหะของโรคและแมลงต่อเชื้อเห็ดที่เราจะเพาะในที่ดินนั้นได้ดีขึ้น

    สรุปแล้วที่กองเพาะเห็ดควรเป็นสถานที่ที่โล่งแจ้ง และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สภาพดินบริเวณนั้นจะต้องไม่เค็มเพราะความเค็ม ของดินจะทำให้เส้นใยเห็ดไม่รวมตัวกันเป็นดอกเห็ดได้


    ไม้แบบ ไม้แบบที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย ทำจากไม้กระดานตอกเป็นกรอบแบบลังไม้รูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดของไม้แบบ หรือ กรอบลังไม้นี้ไม่ควรใหญ่หรือเล็กจนเกินไป ขนาดของไม้แบบหรือกรอบลังไม้ที่ปกติใช้กันก็คือมีฐานกว้าง 35-40 เซนติเมตร ด้านบนกว้าง 25-30 เซนติเมตร สูง 35-40 เซนติเมตร ความยาวของแบบพิมพ์ กรอบไม้นี้ควรจะมีขนาด 1-1.5 เมตร

    ผ้าพลาสติก เพื่อใช้ในการคลุมกองเห็ด ส่วนมากมักจะใช้ผ้าพลาสติกใส เพราะราคาถูกและประหยัดดี ซื้อครั้งเดียวก็ใช้ได้ หลายครั้ง

    บัวรดน้ำ จะเป็นบัวพลาสติกหรือบัวสังกะสีก็ใช้ได้ทั้งนั้นขอให้ใช้ตักน้ำได้และรดน้ำแล้วได้น้ำเป็นฝอย ๆ ก็ใช้ได้แล้ว ปัจจุบันที่ทำ มาก ๆ จะใช้เครื่องสูบไดโว่หรือเครื่องสูบน้ำฉีดน้ำเป็นฝอยรดกองฟางให้เปียกชุ่มก่อนเริ่มการหมักได้ก็จะสะดวกดี

    ปัจจัยที่สำคัญในการเพาะเห็ดฟาง

    1. สภาพอากาศที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดฟาง เห็ดฟางชอบอากาศร้อน อุณหภูมิ 35-37 องศาเซลเซียส ขึ้นได้ดีทั้งในฤดูฝนและ ในฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของดอกเห็ดได้ดีอยู่แล้ว ส่วนในช่วงอากาศหนาวไม่ค่อยจะดีนัก เพราะอากาศ ที่เย็นเกินไปไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของดอกเห็ดฟาง สำหรับทางภาคใต้ก็สามารถจะเพาะเห็ดฟางได้ตลอดทั้งปี ถ้ามีฝนตกไม่มาก เกินไปนัก จึงเห็นได้ว่า การเพาะเห็ดฟางของประเทศไทยเราสามารถเพาะได้ตลอดปี แต่หน้าหนาวผลผลิตจะลดน้อยลงเนื่องจาก อุณหภูมิต่ำ จึงทำให้ราคาสูง หลังฤดูเกี่ยวข้าวอากาศร้อน ฟางและแรงงานมีมากมีคนเพาะมาก จึงเป็นธรรมดาที่เห็ดจะมีราคาต่ำลง ในฤดูฝนชาวนาส่วนมากทำนา การเพาะเห็ดน้อยลง ราคาเห็ดฟางนั้นก็จะดีขึ้น

    2. เรื่องความชื้น ความชื้นเป็นส่วนสำคัญในการเพาะเห็ดฟางมากเป็นตัวกำหนดการเจริญของเส้นใยเห็ดที่สำคัญถ้าความชื้นมีน้อย เกินไป เส้นใยของเห็ดจะเดินช้า และรวมตัวเป็นดอกไม่ได้ ถ้าความชื้นมากเกินไปการระบายอากาศภายในกองไม่ดี ถ้าเส้นใยขาด ออกซิเจน ก็จะทำให้เส้นใยฝ่อหรือเน่าตายไปน้ำที่จะแช่หรือทำให้ฟางชุ่มควรต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่มีเกลือเจือปนหรือเค็ม หรือเป็น น้ำเน่าเสียที่หมักอยู่ในบ่อนาน ๆ จนมีกลิ่นเหม็น ก็ไม่ควรจะนำมาใช้ในการเพาะเห็ดฟางที่ดีนั้น น้ำที่ใช้ในการงอกเส้นใยเห็ดจะมาจาก ในฟางที่อุ้มเอาไว้และความชื้นจากพื้นแปลงเพาะนั้นก็เพียงพอแล้ว ปกติขณะที่เพาะไว้เป็นกองเรียบร้อยแล้วนั้นจึงไม่ควรจะมีการ ให้น้ำ อีก ควรจะรดเพียงครั้งเดียวคือระหว่างการหมักฟางเพาะทำกองเท่านั้น หรืออาจจะช่วยบ้างเฉพาะในกรณีที่ความชื้นมีน้อยหรือ แห้งจนเกินไป การให้ความชื้นนี้โดยการโปรยน้ำจากฝักบัวรอบบริเวณข้าง ๆ แปลงเพาะเท่านั้นก็พอ

    3. แสงแดด เห็ดฟางไม่ชอบแสงแดดโดยตรงนัก ถ้าถูกแสงแดดมากเกินไปเส้นใยเห็ดอาจจะตายได้ง่าย กองเห็ดฟางเพาะเห็ดหลัง จาก ทำกองเพาะเรียบร้อยแล้ว จึงควรจะทำการคลุมกองด้วยผ้าพลาสติกและใช้ฟางแห้ง หรือหญ้าคาปิดคลุมทับอีกเพื่อพรางแสงแดด ให้ด้วยดอกเห็ดฟางที่ไม่โดนแสงแดดจัดมีสีขาวนวลสวย ถ้าดอกเห็ดฟางโดนแดดแล้วจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำเร็วขึ้นกว่าปกติ.

    วิธีการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

    1. เตรียมดินให้เรียบ พลิกหน้าดินตากแดดไว้ 3-4 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค
    2. การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยใช้ได้ทั้งตอซังและปลายฟางถ้าเป็นตอซังแช่น้ำพออ่อนตัวก็นำมาเพาะได้ ปกติประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นปลายฟางแข็ง ๆ ควรแช่น้ำประมาณ 1-2 วัน หรือจุ่มน้ำแล้วนำมากองสุมกันไว้ ประมาณ 1 คืนให้อิ่มตัวนิ่มดีเสียก่อนจึงจะ ใช้ได้ดี ถ้าเป็นผักตบชวาหรือต้นกล้วยจะสับหรือไม่สับก็ได้ แต่ต้องแช่น้ำพอนิ่ม ปกติแช่น้ำประมาณ 1-2 ชั่วโมงแล้วนำมาใช้กอง ได้เลย

    3. หลังจากแช่น้ำวัสดุที่จะใช้เพาะได้ที่แล้ว ให้นำวัสดุที่ใช้เพาะนั้น ใส่ลงในกะบะไม้ที่วางเอาด้านกว้างซึ่งมีลักษณะป้านลงสัมผัสพื้น ให้ด้านแคบอยู่ข้างบนใส่ให้สูงประมาณ 4-6 นิ้ว ถ้าเป็นตอซังให้วางโคนตอซังหันออกด้านนอกส่วนปลายอยู่ด้านใน ใช้มือกดฟาง ให้แน่นพอสมควร แต่ถ้าเป็นปลายฟางควรขึ้นไปย่ำพร้อมทั้งรดน้ำให้ชุ่ม ข้อควรระวังอย่าให้แฉะหรือแห้งจนเกินไป

    4. นำอาหารเสริมที่ชุบน้ำแล้วโรยเป็นแถบกว้างประมาณ 2 นิ้ว รอบ ๆ ด้านทั้งสี่ด้านหนาประมาณ 1 นิ้ว

    5. แบ่งเชื้อเห็ดฟางจากถุงซึ่งปกติเชื้อเห็ดฟาง 1 ถุง หนักประมาณ 200 กรัม ออกเป็น 3-4 ส่วน เท่า ๆ กันจากนั้นโรยเชื้อเห็ดฟาง 1 ส่วน โดยโรยลงบนอาหารเสริมให้ทั่วและชิดกับขอบของแบบไม้ทั้งสี่ด้านก็เป็นการเสร็จชั้นที่ 1

    6. ทำชั้นที่ 2 และ 3 หรือ 4 ต่อไปก็ทำเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 ทุกอย่าง เมื่อทำมาถึงขั้นสุดท้าย ให้โรยอาหารเสริมและเชื้อเห็ดให้เต็ม ทั่วหลังแปลง

    7. นำฟางที่แช่น้ำมาปิดทับให้หนา 1-2 นิ้ว แล้วเอาแบบไม้ออกโดยใช้มือข้างหนึ่งกดกองฟางไว้และทำกองอื่นต่อ ๆ ไป

    8. ทำกองอื่น ๆ ต่อไปให้ขนานกบกองแรก โดยเว้นระยะห่างประมาณ 6-12 นิ้ว

    9. ช่องว่างระหว่างกองแต่ละกองสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตได้อีก โดยอาจจะโรยเชื้อเห็ดฟางลงไปบนช่องว่าง ระหว่าง กอง เพราะบริเวณนี้ก็สามารถทำให้เกิดดอกเห็ดได้ จากนั้น รดน้ำดินรอบ ๆ กองให้เปียกชื้น

    10. คลุมกองฟางด้วยผ้าพลาสติก โดยใช้ 2 ผืนเกยทับกันตรงกลางคลุมให้สูงกว่ากองฟางเล็กน้อยโดยคลุมเป็นแถว ๆ ถ้าอากาศร้อน ให้คลุมห่าง อากาศเย็นให้คลุมชิดหรืออาจคลุมติดกองเลย ในกรณี อากาศเย็นจัด การคลุมพลาสติกเป็นเรื่องสำคัญที่แต่ละแห่งใน แต่ละ ฤดูจะต้องดัดแปลงไปตามความต้องการของเห็ด คือ ช่วงระยะแรก ราววันที่ 1-2 เชื้อเห็ดต้องการอุณหภูมิประมาณ 35-38 ํซ. และ ในวันต่อ ๆ มาต้องการอุณหภูมต่ำลงเรื่อย ๆ จนราววันที่ 8-10 ซึ่ง เป็นวันที่เก็บผลผลิตนั้นต้องการอุณหภูมิราว 30 องศาเซล เซียส

    11. นำฟางแห้งมาคลุม ทับผ้าพลาสติกอีกครั้งหนึ่งจนมิดเพื่อป้องกันแสงแดด แล้วใช้ของหนัก ๆ ทับปลายผ้าให้ติดพื้นกันลมตี

    การดูแลรักษา

    1. การดูแลรักษากองเห็ด ให้ใช้ผ้าพลาสติกใสหรือสีก็ได้ ถ้า เป็นผ้าพลาสติกยิ่งเก่าก็ยิ่งดีคลุม แล้วใช้ฟางแห้งคลุมกันแดดกันลม ให้อีกชั้นหนึ่ง ควรระวังในช่วงวันที่ 1-3 หลังการกองเพาะเห็ด ถ้า ภายในกองร้อนเกินไปให้เปิดผ้าพลาสติกเพื่อระบายความร้อนที่ร้อน จัดจนเกินไป และให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น ดูแลให้ดีก็จะเก็บ ดอกเห็ดได้ประมาณในวันที่ 8-10 โดยไม่ต้องรดน้ำเลย ผลผลิต โดยเฉลี่ยจะได้ดอกเห็ดประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อกอง

    2. การตรวจดูความร้อนในกองเห็ด โดยปกติเราจะรักษา อุณหภูมิในกองเห็ดโดยเปิดตากลม 5-10 นาที แล้วปิดตามเดิมทุกวันเช้า เย็น ถ้าวันไหนแดดจัดอุณหภูมิสูงความร้อนในกองเห็ดมาก ก็ควรเปิดชายผ้าพลาสติกให้นานหน่อย เพื่อระบายความร้อนใน กองเห็ด วิธีตรวจสอบความชื้นทำได้ไดยดึงฟางออกจากกองเพาะ แล้วลองบิดดู ถ้าน้ำไหลออกมาเป็นสายแสดงว่าแฉะไป แต่ถ้ากองฟาง แห้งไปเวลาบิดจะไม่มีน้ำซึมออกมาเลย ถ้าพบว่ากองเห็ดแห้งเกินไปก็ควรเพิ่มความชื้นโดยใช้บัวรดน้ำเป็นฝอยเพียงเบา ๆ ให้ชื้น หลังจากทำการเพาะเห็ดประมาณ 1อาทิตย์ จะเริ่มมีตุ่มดอกเห็ดสีขาว เล็ก ๆ ในช่วงนี้ต้องงดการให้น้ำโดยตรงกับดอกเห็ด ถ้าดอกเห็ด ถูกน้ำในช่วงนี้ดอกเห็ดจะฝ่อและเน่าเสียหาย ให้รดน้ำที่ดินรอบกอง

    การเก็บเห็ดฟาง

    เมื่อกองฟางเพาะเห็ดไปแล้ว 5-7 วัน จะเริ่มเห็นตุ่มสีขาวเล็ก ๆ เกิดขึ้น ตุ่มสีขาวเหล่านี้จะเจริญเติบโตเป็นเห็ดต่อไปเกษตรกรจะเริ่ม เก็บเห็ด ได้เมื่อเพาะไปแล้วประมาณ 7-10 วัน แล้วแต่ความร้อน และการที่จะเก็บเห็ดได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับวิธีการเพาะและฤดูกาล คือ ฤดูร้อนและฤดูฝนจะเก็บเห็ดได้เร็วกว่าฤดูหนาว เพราะความร้อน ช่วยเร่งการเจรญเติบโตของเห็ดนอกจากนั้น ถ้าใส่อาหารเสริมด้วย แล้ว จะทำให้เกิดดอกเห็ดเร็วกว่าไม่ใส่อีกด้วย ดอกเห็ดที่ขึ้นเป็นกระจุก มีทั้งอ่อนและแก่ ถ้ามีดอกเล็ก ๆ มากกว่าดอกใหญ่ ควรรอเก็บเมื่อดอกเล็กโตหรือรอเก็บชุดหลัง เก็บดอกเห็ดขึ้นทั้งกระจุกโดยใช้มือจับ ทั้งกระจุกอย่างเบาๆ แล้วหมุนซ้ายและขวาเล็กน้อย ดึงขึ้นมาพยายามอย่าให้เส้นใยกระทบกระเทือน

    ศัตรูของเห็ดฟางและการป้องกันกำจัด

    1. แมลง เช่น มด ปลวก ไรเห็ด วิธีแก้ไขโดยใช้สารเคมีพวก เซฟวินโรยรอบๆ กอง ห่างประมาณ 1 ศอก อย่าโรยในกองทำประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนเริ่มกองเห็ดและควรจะโรยสารเคมีนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเริ่มกองเห็ดแต่อย่าโรยภายในกองเพราะจะมีผล ต่อการ ออกดอก ทั้งยังมีสารพิษตกค้างในดอกเห็ดซึ่งเกิดอันตรายต่อผู้กิน

    2. เห็ดคู่แข่ง คือเห็ดที่เราไม่ได้เพาะแต่ขึ้นมาด้วย หรือเชื้อโรค อื่นๆ ที่เป็นศัตรูของเห็ดฟาง เช่น พวกราต่าง ๆ วิธีแก้คือการเก็บ ฟางไม่ควรให้ถูกฝน และถ้ามีราขึ้นให้หยิบฟางขยุ้มนั้นทิ้งให้ไกลกองเพาะ

    ข้อแนะนำเพิ่มเติม

    1. ในการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตื้ยนั้น หากมีการเพาะหลาย ๆ กองเรียงกันแล้ว จะสามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อที่ระหว่างกอง แต่ละกองได้อีกด้วย เนื่องจากขณะรดน้ำก็จะมีธาตุอาหาร อาหารเสริม เส้นใยเห็ดที่ถูกน้ำชะไหลลงไปรวมอยู่บริเวณพื้นที่ระหว่างกอง จึง ทำให้บริเวณนั้นมีอาหารครบถ้วนต่อการเกิดดอกเห็ด และยิ่งถ้าให้ ความเอาใจใส่ดูแลอย่างดี หมั่นตรวจดูความชื้น อุณหภูมิ ให้เหมาะสม ต่อการเกิดดอกด้วยแล้ว พื้นที่ระหว่างกองนั้นก็จะให้ดอกเห็ดได้ อีกด้วย

    2. ฟางที่จะใช้สำหรับการเพาะนั้นจะใช้ตอซัง หรือจะใช้ฟางที่ ได้จากเครื่องนวดข้าวก็ได้

    3. หลังจากเก็บดอกเห็ดหมดแล้ว ควรเอากองเห็ดหลาย ๆ กอง มาสุมรวมกันเป็นกองใหม่ให้กว้างประมาณ 80 ซม. ทำแบบการเพาะ เห็ดกองสูง แล้วรดน้ำพอชุ่มคลุมฟางได้สัก 6-8 วัน ก็จะเกิดดอกเห็ด ได้อีกมากพอสมควรเก็บได้ประมาณ 10-15 วันจึงจะหมด วัสดุที่ใช้นี้ หลังจากเพาะเห็ดฟางแล้วสามารถนำไปเพาะเห็ดอย่างอื่นได้อีกด้วยโดยแทบไม่ต้องผสมอาหารเสริมอื่น ๆ ลงไปอีกเลย หรือจะใช้เป็น ปุ๋ยหมักสำหรับต้นไม้ก็ได้ มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับปุ๋ยอินทรีย์ที่ กทม. ขายอยู่นั้นมาก

    4. เมื่อเก็บดอกเห็ดหมดแล้ว นำฟางจากกองเห็ดเก่านี้ไปหมักเป็นปุ๋ยหมักใช้กับพืชอื่น ๆ ต่อไป หรือนำฟางที่ได้จากการเพาะเห็ด ไปเพาะเห็ดนางรม เป๋าฮื้อ ก็ได้5. การขุดดินตากแดด 1 สัปดาห์ ย่อยให้ดินร่วนละเอียด จะทำให้ผลผลิตเห็ดได้มากกว่าเดิมอีก 10-20% เพราะเห็ดเกิดบนดิน รอบ ๆ ฟางได้6. การเปลี่ยนวิธีคลุมกองเห็ดตั้งแต่วันที่ 4 นับจากการเพาะ เป็นต้นไป ให้เป็นแบบหลังคาประทุนเรือจะทำให้ได้เห็ดเพิ่มขึ้น

    คุณค่าทางอาหารจากดอกเห็ดฟาง
    คุณค่าทางอาหารเห็ด ฟางสด เห็ดฟางแห้ง
    โปรตีน 3.40% 49.04%
    ไขมัน 1.80% 20.63%
    คาร์โบไฮเดรท 3.90% 17.03%
    เถ้า - 13.30%
    พลังงาน 44 แคลอรี่ 4170 แคลอรี่
    แคลเซียม 8 มิลลิกรัม 2.35% ของเถ้า
    เหล็ก 1.1 มิลลิกรัม 0.99% ของเถ้า
    ฟอสฟอรัส - 30.14% ของเถ้า

    วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

    เห็ดเข็มทอง

    ในบรรดาเห็ดรับประทานที่ชอบอากาศเย็นและนิยมเพาะเป็นการค้าอย่างกว้างขวางนั้น นอกจากเห็ดกระดุม เห็ดหอม และเห็ดนางรมแล้ว ยังมีเห็ดเข็มทองอีกชนิดหนึ่งที่เพาะกันมาก ทั้งในประเทศญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน โดยเฉพาะญี่ปุ่น เทคโนโลยีการเพาะเห็ดชนิดนี้ได้รับการพัฒนารุดหน้าไปมาก จนสามารถผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อีกทั้งชาวญี่ปุ่นเองก็นิยมบริโภคเห็ดเข็มทอง อาจจะเป็นเพราะรสชาติดี สะอาด นำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด ทั้งประเภทน้ำและแห้ง เช่น อาหารสุกี้ และน้ำซุป

    เห็ดเข็มทอง (Flammulina velutipes (Curt, ex Fr.) Sing.) พบขึ้นทั่วไปในเขตหนาว เช่น จีน ญี่ปุ่น อเมริกา และออสเตรเลีย ชอบขึ้นกับไม้ตายแล้วและออกดอกในช่วงฤดูหนาว ชาวบ้านจึงนิยมเรียกเห็ดชนิดว่า เห็ดเหมันต์ (Winter mushroom) ดอกเห็ดในธรรมชาติมีสีเหลือง-ส้ม น้ำตาล-แดง หมวกเล็ก ลำต้นสั้นชาวญี่ปุ่นรู้จักรับประทานเห็ดชนิดนี้มานานหลายศตวรรษ จนสามารถเพาะเห็ดจากท่อนไม้แทนการเก็บจากเห็ดป่า และๆได้รับการศึกษาค้นคว้าต่อจนถึงปี พ.ศ. 2471 Morimoto ก็พบวิธีการเพาะเห็ดจากขี้เลื่อย และพัฒนาเรื่องมาจนสามารถเพาะเห็ดเข็มทองได้ตลอดทั้งปีภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมกันนี้ได้ผสมพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะดีตามต้องการ เช่น ดอกเห็ดสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เจริญเติบโตดี ออกดอกง่าย ผลผลิตสูง มีอายุการตลาดอยู่ได้นาน ดังเช่นสายพันธุ์ที่ใช้เพาะกันอยู่ทุกวันนี้

    โรงเพาะ โรงเรือนเพาะเห็ดเข็มทองที่ดีจะต้องสร้างแบบห้องเย็น ภายใต้หลังคาสามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น อากาศและแสงสว่างได้ดี มีพื้นที่สำหรับกองขี้เลื่อย และติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องผลิตไอน้ำ ตู้อบฆ่าเชื้อ เครื่องมือต่าง ๆ และควรมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองในกรณีไฟฟ้าดับด้วย

    การเตรียมเชื้อเห็ด ใช้เห็ดสายพันธุ์ที่ตลาดนิยม เลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ในอาหารวุ้น PDA หรือ PDYA ที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส แล้วจึงขยายเชื้อลงในเมล็ดข้าวฟ่างหรือขี้เลื่อยผสมรำ 10 เปอร์เซ็นต์ ใช้เป็นหัวเชื้อ

    การเตรียมวัสดุเพาะ วัสดุเพาะที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ ขี้เลื่อยผสมรำละเอียด 10-20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้อาจจะผสมแกลบ 5-10 เปอร์เซ็นต์ และอาหารเสริมอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของเชื้อเห็ดแต่ละสายพันธุ์ ขี้เลื่อยควรรดน้ำกองทิ้งไว้จนน้ำที่ไหลซึมออกมามีสีใสในระหว่างกองหมักน้ำ ควรกลับกองเพื่อความสม่ำเสมอในการชะล้างยางไม้ออกจากขี้เลื่อย เสร็จแล้วกองให้สะเด็ดน้ำเพื่อเตรียมใช้งานต่อไป ส่วนผสมของวัสดุเพาะควรมีความชื้นอยู่ระหว่าง 58-62 เปอร์เซ็นต์

    ภาชนะที่ใช้เพาะเห็ด นิยมใช้ขวดพลาสติกทนความร้อนสูง มีลักษณะทั่วไปโดยประมาณ ดังนี้ ความจุ 1 ลิตร ปากกว้าง 6 เซนติเมตร ใส่วัสดุเพาะหมัก 750 กรัม บรรจุขี้เลื่อยด้วยเครื่องบรรจุ พร้อมทั้งอัดและเจาะรูตรงกลางโดยอัตโนมัติ ปิดปากขวดด้วยฝาพลาสติกแบบมีที่กรองอากาศ

    การอบฆ่าเชื้อ อบฆ่าเชื้อขวดขี้เลื่อยที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง จากนั้นจึงเพิ่มอุณหภูมิเป็น 120 องศาเซลเซียส หรือจะอบที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 2 ชั่วโมงก็ได้ ระหว่างที่อบฆ่าเชื้อต้องระวังอย่าให้น้ำไหลเข้าไปในขวดขี้เลื่อย จะทำให้ความชื้นสูงเกินไป เชื้อเห็ดจะเจริญเติบโตได้ไม่ดี

    การใส่เชื้อ เมื่ออบฆ่าเชื้อเสร็จเรียบร้อย ทิ้งขวดขี้เลื่อยให้เย็นประมาณ 20 องศาเซลเซียส จึงจะใส่เชื้อ การเพาะเห็ดแบบอุตสาหกรรมจะต้องใช้เครื่องมือเป็นส่วนใหญ่ การใส่เชื้อก็เช่นกันจะใส่ด้วยเครื่องโดยใช้เชื้อที่ทำจากขี้เลื่อย ใส่ในอัตราส่วนประมาณ 15 กรัมต่อขวด หรือเชื้อ 1 ขวด ต่อวัสดุเพาะ 50 ขวด

    การบ่มเชื้อ นำขวดเพาะที่ใส่เชื้อเห็ดไปตั้งไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 18-20 องศาเซลเซียส จึงจะทำให้อุณหภูมิภายในขวดขี้เลื่อยเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด ใช้เวลา 25-30 วันเชื้อก็จะเจริญเต็มขวด

    การสร้างตุ่มดอก เมื่อเชื้อเจริญเต็มขวด ให้เปิดฝาออกแล้วใช้เหล็กปลายแบนงอเหมือนช้อน ขุดเอาส่วนหน้าหรือส่วนที่เป็นเชื้อขี้เลื่อยออกให้หน้าเรียบ (ฟาร์มเห็ดใหญ่ ๆ จะใช้เครื่องแคะ) นำไปไว้ หรือลดอุณหภูมิห้องลงมาที่ 10-15 องศาเซลเซียส (แล้วแต่สายพันธุ์เห็ด) ความชื้น 80-85 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องใช้แสงสว่าง รักษาอุณหภูมิและความชื้นให้สม่ำเสมอ ใช้เวลา 5-10 วัน ก็จะสร้างตุ่มดอก แล้วเลี้ยงต่อจนดอกเห็ดโผล่พ้นปากขวด 2-3 เซนติเมตร

    การเจริญเติบโตของดอกเห็ด เพื่อให้ได้เห็ดที่มีคุณภาพดี ลำต้นอวบแน่น จึงจำเป็นต้องเลี้ยงดอกที่อุณหภูมิต่ำประมาณ 6 องศาเซลเซียส พร้อมทั้งให้แสงสว่างและเพิ่มการถ่ายเทอากาศมากขึ้น ความชื้นประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ เมื่อดอกเห็ดเจริญเติบโตสูงขึ้น ต้องใช้แผ่นพลาสติกหรือกระดาษห่อหุ้มปากขวดเป็นทรงกรวยเพื่อประคองให้ลำต้นขึ้นตั้งตรงเป็นกลุ่ม จนกระทั่งได้ดอกสูง 12-14 เซนติเมตร จึงเอาพลาสติกออกเก็บดอกเห็ดโดยจับโคนดอกบิดดึงให้หลุดออกทั้งกอ เพราะบริเวณโคนดอกจะเชื่อมติดกันด้วยเส้นใยเห็ด เก็บดอกครั้งเดียวเพราะดอกชุดต่อไปจะออกน้อย คุณภาพไม่ดีไม่คุ้มกับเวลาและค่าใช้จ่าย ระยะเวลาตั้งแต่สร้างตุ่มดอกจนถึงเก็บเห็ดได้ใช้เวลา 25-28 วัน ได้ผลผลิต 150-200 กรัมต่อขวด
    เอกสารอ้างอิงChang, S.T. and Quimio, T.H. 1982. Tropical Mushrooms : Biological Nature and Cultivation Methods, The Chinese University Press,
    Hong Kong.
    Stamets, P. Growing gourmet and medicinal mushrooms. 551 pp. Ten Speed Press, California.
    Tonomura, H. 1978. Flammuilina velutipes (Curt, ex Fr.) Sing. In The Biology and Cultivation of Edible Mushrooms. pp. 410-421.
    Edited by S.T. Chang and W.A. Hayes Academic Press, New York.


    ที่มา : เห็ดไทย 2539. สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย. หน้า 115-118

    วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

    เห็ดโคนน้อย

    ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเห็ดโคนน้อย
    เห็ดโคนน้อย (Coprinus spp.) จัดเป็นราชั้นสูงที่อยู่ใน ตระกูลเห็ด (Basidiomycetes) เป็นเห็ดที่อยู่ในจีนัส Coprinus ใกล้เคียงกับเห็ดหมึก Coprinus comatus (Ink cap)และเห็ดในกลุ่มCoprinus อื่นๆอีกหลายชนิด แต่เป็นคนละชนิดกับเห็ดโคนธรรมชาติหรือเห็ดปลวก (Termitomyces spp.)ในต่างประเทศเห็ดในกลุ่มนี้ก็มีการเพาะเลี้ยงเช่นกัน มีชื่อสากลว่า Hypsizygus marmoreus (Peck) Bigelow เดิมในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปเนื่องจากมีการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกตามวัสดุเพาะ เช่น เห็ดถั่ว เห็ดถั่วเหลืองหรือ เห็ดถั่วเน่า เห็ดโคนน้อย เห็ดโคนบ้าน เห็ดโคนขาว(ภาคเหนือ) เห็ดคราม เห็ดปลวกน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)เห็ดโคนเพาะ เห็ดโคนน้อย เห็ดหมึก(ภาคกลาง) เป็นเห็ดที่ขึ้นง่าย มีการเพาะกันมากในต่างประเทศ ลักษณะคล้ายเห็ดโคน สีขาวสีหมวกสวยงามสมส่วน ก้านดอกขนาดเท่าดินสอดำ ความยาวของต้นเห็ดประมาณ 2-3 นิ้ว

    เห็ดชนิดนี้นอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้วยังพบว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยในการย่อยอาหารและลดเสมหะ ถ้าตำให้ละเอียดใช้พอกภายนอกจะช่วยบรรเทาอาการปวดต่างๆได้ มีรายงานวิจัยที่แสดงว่าเห็ดนี้สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง sarcoma 180 และ เซลล์มะเร็ง Ehrlich carcinoma ได้สูง 90 และ100% ตามลำดับและยังพบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่ต้านเชื้อราได้อีกด้วย

    สำหรับผู้บุกเบิกการเพาะเห็ดโคนน้อยและนำมาเผยแพร่ครั้งแรกให้แก่ประชาชนทั่วไป ตามเอกสารของอาจารย์อานนท์ เอื้อตระกูล เรื่องการเพาะเห็ดโคนน้อย(เห็ดถั่ว)ของศูนย์ไบโอเทคฯและชมรมเห็ดสากล ได้รายงานว่านายไพโรจน์ พิสุทธ์เป็นผู้บุกเบิกในการทดลองเพาะ ที่บ้านเลขที่ 83 หมู่18 ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้ร่วมกับศูนย์บริการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอหนองปรือ จัดอบรมหลักสูตรการเพาะเห็ดขึ้น และก็ได้มีผู้นำไปเพาะขยายตามที่ต่างๆแต่ยังคงเป็นที่รู้จักกันในวงแคบ เมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดเศรษฐกิจชนิดอื่นๆเช่นเห็ดฟางเป็นต้น เนื่องจากความนิยมบริโภคเห็ดโคนของประชาชนทั่วไปมีสูง เพราะเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย อุดมด้วยโปรตีนและคุณค่าทางอาหารสูง และมีราคาค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ เพราะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับปลวก และจะพบขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณกันยายน ถึงตุลาคม ดังนั้นจึงเริ่มมีผู้นำเห็ดถั่วนำมาเพาะเป็นการค้า เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีรสชาติใกล้เคียงแม้ว่าจะไม่เทียบเท่าเห็ดโคน โดยตั้งชื่อให้เป็นจุดสนใจว่าเห็ดโคนน้อยหรือเห็ดโคนเพาะ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ของเชื้อเห็ดถั่วที่มีลักษณะดีนำมาเพาะเลี้ยงจนกระทั่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศไทยเช่นเชียงใหม่ ลำปาง กำแพงเพชร ลพบุรีและกาญจนบุรีเป็นต้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีเทคนิคในการเพาะแตกต่างกันออกไป แต่โดยพื้นฐานวิธีการเพาะก็คล้ายๆกับเห็ดฟางนั่นเอง



    เห็ดโคนน้อยที่เพาะกันทั่วไปที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่แน่นอนแล้วจะไม่มีสารพิษ Coprine ซึ่งสารชนิดนี้สามารถพบในเห็ดจีนัส Coprinus หลายสปีชีส์ที่ใกล้เคียงกับเห็ดโคนน้อย เช่น C.atramentarius , C.disseminatus, C.fuscescens, C.insignis, C.micaceus, C.quadrifidus, C.variegatus, C.silvaticus เป็นต้น โดยสารนี้พบว่าจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Coprinus syndrome (Bresinsky and Besel,1990) ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากสารพิษ coprine ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ สารพิษนี้มีฤทธิ์เสริมกับเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์ ทำให้ออกฤทธิ์คล้ายกับการรับประทานยา antabuse ดังนั้นเมื่อผู้บริโภครับประทานเห็ดในกลุ่มใกล้เคียงเหล่านี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์ไม่ว่าก่อนหรือหลัง จะมีอาการเมาค้าง หายใจหอบ หน้าแดงเนื่องจากหลอดเลือดขยาย ใจสั่น ชีพจร เต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ปวดศรีษะ มึนงง สับสนหรือประสาทหลอนและความดันโลหิตต่ำ อาการจะปรากฏอยู่ไม่นานและดีขึ้นภายใน 5 วัน การรักษาเนื่องจากพิษ โดยปกติจะหายได้เอง ยกเว้นถ้าอาการคงอยู่นาน ต้องทำให้อาเจียน ล้างกระเพาะลำไส้ ถ้าความดันต่ำมากต้องให้การรักษาทันที

    ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเพาะเห็ดโคนน้อยโดยทั่วไปคือการสลายตัวง่ายของดอกเห็ด จึงมีระยะเวลาในการให้ผลผลิตค่อนข้างสั้น นอกจากจะทำการลวกให้สุกเสียก่อนก็พอที่จะสามารถเก็บได้นานขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดโคนน้อยมีการเจริญเติบโตเร็ว ส่วนของครีบจะสลายกลายเป็นของเหลวสีดำคล้ายหมึกเป็นผลมาจากการย่อยตัวเอง(autolysis) ของเหลวจากการสลายตัวนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นในต่างประเทศนำมาทำน้ำหมึกเพื่อทำต้นฉบับเอกสารพิเศษเพื่อป้องกันการปลอมแปลง จากการศึกษาพบว่าดอกเห็ดจากสายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ เมื่อโตเต็มที่จะสลายตัวภายใน 16 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเร็วกว่าที่ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสลายตัวใช้เวลา 18 ชั่วโมงและที่อุณหภูมิห้อง(27+/- 2 องศาเซลเซียส)ซึ่งใช้เวลา 20 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบว่าอิทธิพลของแสงก็มีผลต่อการเจริญเติบโตและการสลายตัวของดอกเห็ดเช่นกันกล่าวคือการเพาะเห็ดโคนน้อยในที่มืด เส้นใยจะเจริญได้ดีที่สุดแต่จะไม่สร้างดอกเห็ด หากมีการให้แสงตลอดเวลาพบว่าสามารถชะลอการสลายตัวของดอกเห็ดและแสงสีน้ำเงินมีประสิทธิภาพในการสร้างดอกเห็ดและชะลอการสลายตัวของดอกเห็ดได้ดีที่สุด ลักษณะของเห็ดในจีนัส Coprinus นี้มีการเจริญเติบโตที่เร็วมาก สามารถเจริญเต็มจานอาหารเพาะเชื้อภายใน 5-10 วัน โดยพบว่าเส้นใยเจริญดีที่สุดบนอาหาร oatmeal agarโดยใช้เวลาเพียง 7 วันก็เจริญเต็มจานเลี้ยงเชื้อ ให้โคโลนีที่ใหญ่ เส้นใยฟูแน่น รองลงมาคือ potato dextrose agar, yeast extract agar และ malt agar ตามลำดับ ผลจากการเปรียบเทียบวัสดุขยายเชื้อพบว่าเส้นใยเห็ดโคนน้อยสามารถเจริญบนเมล็ดข้าวฟ่างอย่างเดียวได้ดีกว่าการใช้เมล็ดข้าวฟ่างผสมข้าวเปลือก และการใช้เมล็ดข้าวเปลือกอย่างเดียว ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบผลผลิตเป็นน้ำหนักสดของดอกเห็ดที่เพาะบนวัสดุต่างๆพบว่าการเพาะเห็ดโคนน้อยโดยการใส่เชื้อ จะทำให้ได้ผลผลิตสูงกว่าการเพาะแบบไม่ใส่เชื้อ

    เนื่องจากการผลิตเห็ดโคนน้อยยังพบปัญหาในเรื่องอายุหลังเก็บเกี่ยวค่อนข้างสั้น อันเนื่องมาจากการสลายตัวเร็วของดอกเห็ด แต่ปัจจุบันได้มีผู้แปรรูปเป็นเห็ดโคนน้อยบรรจุขวด โดยนำเห็ดที่เกลาแล้วมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปลวกน้ำร้อนให้สุกปล่อยให้สะเด็ดน้ำ 5 นาที นำไปบรรจุลงขวดที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วเติมน้ำเกลือเข้มข้น20%จนเต็มแล้วนำไปนึ่งต่ออีก 10-25 นาที ปิดฝาขวดแล้วนำไปใส่หม้อนึ่งความดันไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้ออีก 30 นาที เมื่อเย็นแล้วปิดผนึกฝาขวดก็สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี นอกจากนี้ก็ยังผู้นำมาแปรรูปในลักษณะอื่นๆอีกเช่นเห็ดอบแห้ง เห็ดทุบเป็นต้น









    การเพาะเห็ดโคนน้อย แบบกองเตี้ย